การผลิตงาดำ มก.18 เพื่อการส่งออก


งาดำ เป็นพืชน้ำมันที่สำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศ และมีแนวโน้มที่จะทวีความสำคัญขึ้นทุกปีเนื่องจากเป้นพืชที่มีศักยภาพในการผลิตและการตลาดสูงสามารถปลูกขึ้นง่าย ลงทุนน้อย ทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้ดี เกษตรกรนิยมปลูกงาก่อนและหลังการทำนา หรือหลังจากการเก็นเกี่ยวพืชหลักการปลุกงามีทั้งในสภาพไร่และสภาพนาขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ของแต่ละท้องถิ่น

       งาดำ มก.18 เป็นพันธุ์แท้ที่มีการปรับปรุงพันธุ์โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้คัดเลือกพันธุ์โดยวิธีจดประวัติจากคู่ผสมระหว่าง col.34 กับงาดำนครสวรรค์ ในระหว่างปี 2528-2530 มีการทดสอบผลผลิตในสถานีทดลอง และใสภาพไร่เกษตรกรในปี 2534 งาดำพันธุ์ มก.18 มีลักษณะการเจริญเติบโตแบบทอดยอด ใบสีเขียวเข้ม ลำต้นไม่แตกกิ่งก้าน และค่อนข้างสูง เมล็ดมีสีดำสนิทลักษณะฝัก 2 พู ฝักเกิดตรงกันข้าม ดังนั้น 1 ข้อจะมี 2 ฝัก การเรียงตัวของฝักจะเป็นแบบเวียนสลับรอบลำต้นความยาวปล้องสั้นทำให้จำนวนของฝักต่อต้นสูง ทนทานต่อโรคราแป้ง และทนต่อการหักล้ม

ปัจจัยจำเป็นที่ต้องใช้

       เมล็ดพันธุ์ มก.18 หว่านใช้เมล็ดพันธุ์ 1-2 กก./ไร่

       ปุ๋ยใช้สูตร 15-15-15 จำนวน 25 กก./ไร่

ขั้นตอนการดำเนินงาน

       การปลูกงา

       เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกโดยวิธีหว่าน หลังจากไถเตรียมดิน 1-2 ครั้ง ใช้เมล็ดงาหว่านให้กระจายสม่ำเสมอในแปลงปลูกแล้วคราดกลบทันที เพราะถ้ารอจนหน้าดินแห้งหรือเมล็ดถูกแดดเผานานๆ เมล็ดงาจะตกมันทำให้ไม่งอกหรืองอกไม่สม่ำเสมอ สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่หว่านจะใช้ประมาณ 1-2 กก./ไร่ ขึ้นอยู่กับสภาพการเตรียมดินของเกษตรกร ในการหว่านอาจใช้ทรายละเอียด ขี้เถ้าแกลบ หรือมูลสัตว์ผสมในอัตรา 1 : 1 เพื่อช่วยให้เมล็ดงากระจายสม่ำเสมอมากขึ้น

       การดูแลรักษา

       ศัตรูงาที่สำคัญ แมลง ได้แก่ หนอนห่อใบงา และหนอนผีเสื้อหัวกะโหลก ควรหมั่นตรวจแปลง และฉีดพ่นสารเคมีแมลง เมื่อมีปริมาณมากในระดับเศรษฐกิจ สำหรับโรคที่สำคัญคือ โรคราก และโรคโคนเน่าซึ่งเกิดจากเชื้อรา ควรหลีกเลี่ยงการปลูกงาซ้ำที่เดิม และคลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราก่อนปลูก

       การเก็บเกี่ยว

       เก็บเกี่ยวได้เมื่อตามอายุงา ซึ่งพันธุ์ มก.18 มีอายุ 85-90 วัน หรือให้เด็ดฝักที่ 3 จากยอดงาที่มีสีคล้ายฟันควาย  ให้เก็บเกี่ยวได้ โดยใช้เคียวเกี่ยวนำไปมัด 3 ขา ตั้งตากแดด 3-5 วัน จะทำการบ่มหรือไม่บ่มก็ได้ การบ่มงาจะเกี่ยวแล้วนำมากองเป็นแปลงวางต้นงาสลับกันคล้ายกองเห็ดฟาง จะใช้พลาสติกคลุมบ่มไว้ 2-3 วัน จึงนำไปมัด 3 ขา ตากให้แห้ง 2-3 วัน จึงนำไปแคะเอาเมล็ดงาออกจากฝัก

       หมายเหตุ

       ฤดูปลูก รุ่นที่ 1 ปลายเดือนมกราคม-มีนาคม รุ่นที่ 2 กรกฎาคม-สิงหาคม

       พื้นที่ปลูกงาควรเป็นดินที่ระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำขังแฉะ และเป็นกรดจัด

ผลผลิต

       อายุเก็บเกี่ยวปลายฤดูฝน 85 วัน ต้นฤดูฝน 90 วัน ผลผลิต 60-170 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตใช้บริโภคและสกัดน้ำมัน มีคุณค่าทางอาหารสูง

ตลาดและผลตอบแทน

       งาเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ใช้บริโภคภายในประเทศและส่งออก ราคาที่เกษตรกรขายได้กิโลกรัมละ 15-20 บาท

 

 

กลับเมนูหลัก